ธุรกิจท่าข้าวกลับมาเฟื่องฟู ทำเป็นกองทัพมด-ไล่ทุบราคาข้าวชาวนา

จากประชาชาติธุรกิจ

“ท่าข้าวกองทัพมด” คึกคักหลังโรงสีอ่วมสภาพคล่องปิดหลายจังหวัด “ซี.พี.-โอแลม” โผล่แจมด้วย ด้านส.โรงสีข้าวชี้ช่วยชาวนามีทางเลือกขาย-แต่ราคาต่ำกว่าโรงสีปกติ แนะรัฐกำกับดูแล หวั่นราคาซื้อข้าวนาปี”61/62 ดิ่ง

แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าว เปิดเผยว่า จากกรณีผู้ประกอบการธุรกิจโรงสีประสบปัญหาสภาพคล่องปิดกิจการและหยุดซื้อข้าวไปหลายพื้นที่ ส่งผลให้ขณะนี้มีธุรกิจท่าข้าวเกิดขึ้นอย่างมาก โดยธุรกิจนี้จะเข้าไปรวบรวมรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนา คล้ายกับพ่อค้าคนกลาง แต่มีลักษณะกึ่งถาวรเพราะธุรกิจนี้จะใช้อุปกรณ์ไม่มาก ใช้แค่เพียงลานเท รถตักขนเข้าไปรับซื้อเป็นช่วง ๆ เช่น ช่วงที่มีผลผลิตออก เมื่อซื้อข้าวหมดแล้วก็จะเคลื่อนย้ายไปรับซื้อในพื้นที่อื่นคล้ายกับกองทัพมด กระจายไปยังจังหวัดต่าง ๆ เช่น สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา กำแพงเพชร นครปฐม หรือแม้แต่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลาย ๆ จังหวัด

“โรงสีหลายจังหวัดปิดกิจการชั่วคราว เช่น นครปฐม จากเคยมี 40 โรง ตอนนี้เหลือเปิดซื้อขายจริงแค่ 20 โรง หรือในบางอำเภอในจังหวัดนครราชสีมา เคยมีโรงสี 3 โรง ปิดไป 2 โรง และมีพื้นที่ห่างกันมากเป็นสิบ ๆ กิโลเมตร ก็มีธุรกิจท่าข้าวกองทัพมดลักษณะนี้เกิดขึ้น”

โดยธุรกิจนี้มีทั้งที่จดทะเบียนเป็นผู้ค้าข้าวกับกรมการค้าภายในเช่นเดียวกับท่าข้าวกำนันทรงในอดีต และกลุ่มที่ไม่จดทะเบียน และเมื่อซื้อข้าวเปลือกแล้วจะนำมาขายให้กับโรงสีอีกทอดหนึ่ง ซึ่งท่าข้าวต้องบวกค่าบริหารจัดการซึ่งต้องจ่ายให้กับเจ้าของสถานที่ค่าขนส่งตามระยะทาง จึงตั้งราคาซื้อข้าวเปลือกต่ำกว่าโรงสีตันละ 400-500 บาท

“น่าห่วงว่าหากเกิดปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำอีก หลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นโรงสีกดราคา ดังนั้น รัฐบาลควรกำกับดูแล เช่น การขึ้นทะเบียนพ่อค้าข้าวเปลือกเพื่อให้ทราบว่าพ่อค้านั้นเป็นใคร ตั้งจุดรับซื้อที่ไหน ควรมีการปิดป้ายแสดงราคารับซื้อ การหักลดค่าความชื้น”

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ไม่ใช่เพียงมีพ่อค้าข้าวเปลือกเท่านั้นที่เช่าท่าข้าว แต่ยังมีผู้ส่งออกหลายรายที่เริ่มใช้กลวิธีนี้ เช่น บริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด ที่ตั้งจุดรับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิเพื่อส่งไปยังโรงสีและโรงอบ อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์, จ.สุพรรณบุรี และ จ.นครราชสีมา หรือ บริษัท โอแลม ตั้งจุดรับซื้อร่วมกับสหกรณ์ใน จ.อุบลราชธานี เป็นต้น

นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ธุรกิจท่าข้าวเพิ่มมากขึ้น โดยมี 3 กลุ่ม คือ ท่าข้าวซึ่งเป็นจุดรวบรวมรับซื้อข้าวเปลือกของสหกรณ์การเกษตร, จุดรวบรวมรับซื้อจากสหกรณ์การเกษตรกลุ่มลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และกลุ่มท่าข้าวเอกชนซึ่งมีทั้งเปิดจุดรับซื้อเอง และเปิดพื้นที่ให้โรงสี/ผู้ส่งออกข้าวเข้าไปเช่าเปิดจุดรับซื้อ และมีทั้งที่จดทะเบียนและไม่จดทะเบียนกับกรมการค้าภายในด้วย

“โรงสีีบางจังหวัดมีน้อยขาดจุดรับซื้อ ท่าข้าวจะไปช่วยให้เกษตรกรไม่ต้องขนส่งข้าวไปไกล ๆ แต่ต้องยอมรับว่าการตั้งราคารับซื้อข้าวเปลือกต้องเผื่อค่าบริหารจัดการท่าข้าว ค่าแรงคน ค่าขนส่งคิดตามระยะทาง คุณภาพ ความชื้นซึ่งโดยรวมต้องหักออกเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าตันละ 250-300 บาท ฉะนั้น ราคารับซื้อข้าวเปลือกก็ย่อมต่ำกว่าที่โรงสีซื้อ แต่จะไม่ส่งผลต่อราคาตลาดข้าวเปลือกเพราะเมื่อมีการแข่งขันสูง เกษตรกรน่าจะได้ประโยชน์ ส่วนผลผลิตข้าวเปลือกนาปี 2561/2562 คาดว่าจะมีปริมาณใกล้เคียงกับปี 2560/2561 ซึ่งมีปริมาณ 7-8 ล้านตันข้าวเปลือก

 

 

 

#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,๒ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

 

ปิดปรับปรุงระบบความคิดเห็นชั่วคราว ขออภัยในความไม่สะดวก หากลูกค้าต้องการเปิดใช้งานระบบ กรุณาติดต่อ 02-8323222 กด 2