พระมหากรุณาธิคุณ ชาวบ้านได้โรงสีข้าวพิกุลทองแห่งใหม่ พร้อมปรับปรุงโรงสีพิกุลทองเดิมเป็นพิพิธภัณฑ์

จาก วารสารเทคโนโลยีชาวบ้าน

สรินนา อ้นบุตร

พระมหากรุณาธิคุณ ชาวบ้านได้โรงสีข้าวพิกุลทองแห่งใหม่ พร้อมปรับปรุงโรงสีพิกุลทองเดิมเป็นพิพิธภัณฑ์

"ให้ ปรับปรุงโรงสีข้าวพิกุลทอง ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และให้พิจารณาถึงจำนวนประชากรที่มาใช้ประโยชน์ อย่างน้อยควรมีขนาดเท่ากับโรงสีที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช และควรประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้ามาใช้ประโยชน์ ส่วนเครื่องเก่าให้อนุรักษ์ไว้ และปรับปรุงอาคารให้สวยเป็นพิพิธภัณฑ์ โดยให้สำนักงาน กปร. เร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว "..." ให้ยุวเกษตรกรและกรรมการโรงสี ได้ศึกษาเรื่องการบริหารจัดการโรงสีข้าวตั้งแต่ต้น รวมทั้งการศึกษาด้านบัญชี และหลักสูตรอื่นๆ ให้ครบวงจร "..." ที่นราธิวาส ควรทำเส้นทางท่องเที่ยวเกี่ยวกับงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ"

พระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2551

จาก แนวพระราชดำริดังกล่าว สำนักงานสหกรณ์จังหวัดนราธิวาส ร่วมกับจังหวัดนราธิวาส ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลุ่มน้ำโก-ลก องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสะท้อน ตลอดจนราษฎรในพื้นที่ได้ประชุมหารือร่วมกัน และได้กำหนดแนวทางในการพัฒนา โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงาน กปร. จัดสร้างโรงสี พร้อมจัดหาเครื่องสีข้าวและอุปกรณ์ใหม่มาทดแทน พร้อมเพิ่มองค์ความรู้และการบริหารจัดการโรงสีข้าวแก่ผู้นำสหกรณ์ ผู้นำชุมชน เยาวชนในพื้นที่ และดำเนินการปรับปรุงโรงสีพิกุลทองเดิมให้เป็น "พิพิธภัณฑ์" สำหรับการศึกษาเรียนรู้ของประชาชนในพื้นที่ต่อไป

ทั้ง นี้ โรงสีข้าวพิกุลทองเดิมได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องจากทรงห่วงใยและมีพระราชประสงค์ช่วยเหลือราษฎรที่ยากจน จึงมีพระราชดำริให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ก่อตั้งโรงสีข้าวขนาดเล็ก กำลังการผลิต 500 กิโลกรัม ต่อชั่วโมง ซึ่งทาง บริษัท SATAKE ได้น้อมเกล้าฯ ถวาย ณ บริเวณโครงการชลประทานมูโนะ หมู่ที่ 1 บ้านปูยู ตำบลเกาะสะท้อน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2528 และ ม.จ. จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ ได้ประทานชื่อโรงสีแห่งนี้ว่า "โรงสีข้าวพิกุลทอง"

คุณเสน่ห์ สภาพันธ์ สหกรณ์จังหวัดนราธิวาส เล่าว่า โรงสีข้าวพิกุลทอง เป็นสถานที่รับฝากข้าวเปลือก โดยทำหน้าที่เสมือนธนาคารข้าว บริการสีข้าวให้กับราษฎรในพื้นที่ ตลอดจนรวบรวมผลผลิตข้าวมาสีแล้วขายให้กับพ่อค้า โดยเกษตรกรที่มาใช้บริการจะได้รับคืนกำไรเฉลี่ยปลายปี ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ในการศึกษา ค้นคว้าเกี่ยวกับการเพาะปลูกข้าว การเก็บเกี่ยว การสีข้าว ตลอดจนการขาย ซึ่งต่อมาเกษตรกรผู้ใช้บริการโรงสีข้าวในท้องที่ตำบลเกาะสะท้อน และตำบลพร่อน อำเภอตากใบ ได้รวมกลุ่มจัดตั้งเป็นสหกรณ์การเกษตรโรงสีข้าวพิกุลทองตากใบ จำกัด ขึ้น เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2544 เพื่อการบริหารจัดการและส่งเสริมพัฒนาอาชีพร่วมกัน

โดยแบ่งออกเป็น 3 กิจกรรม ประกอบด้วย การรับจ้างสีข้าว การรับฝากข้าว และการบริหารงานภายในโรงสีข้าวพิกุลทอง ในช่วงสถานการณ์ปกติและโรงสีข้าวยังสามารถใช้งานได้เต็มกำลังการผลิต มีเกษตรกรนำข้าวมาใช้บริการสีข้าวจำนวนมาก แต่เนื่องจากโรงสีข้าวได้ผ่านการใช้งานมานานจึงเกิดการชำรุด

และ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2551 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของโรงสี ข้าวพิกุลทอง ในการนี้ได้มีพระราชดำรัสกับผู้เฝ้ารับเสด็จฯ ว่า โรงสีข้าวพิกุลทองแห่งนี้มีอายุการใช้งานมานานกว่า 20 ปีแล้ว เครื่องจักรมีสภาพทรุดโทรม ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งยังเป็นโรงสีขนาดเล็ก เครื่องจักร อุปกรณ์ในโรงสีเป็นของเก่า จึงอยากให้เก็บไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ และขอให้สำนักงาน กปร. จัดหาโรงสีที่ทันสมัยมาให้ชาวบ้านในพื้นที่แทนโรงสีข้าวเดิม แต่ขอให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิม โดยให้ไปดูแบบที่เคยสร้าง ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และพิจารณาดูว่าถ้าจะสร้างในที่ตั้งเดิม พื้นที่และบริเวณจะเพียงพอหรือไม่ หรือจะต้องปรับปรุงอาคารที่ทำการใหม่เพื่อมารองรับ

"หลังจากได้รับ พระราชทานโรงสีข้าวแห่งใหม่ ชาวบ้านได้ประโยชน์ตรงนี้เยอะมาก โดยมีสหกรณ์โรงสีข้าวพิกุลทองตากใบ จำกัด เป็นผู้บริหารจัดการในเรื่องของการบำรุงดูแลรักษา การให้บริการกับสมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรโดยทั่วไป ทั้งในเรื่องของการบริหารจัดการ ซึ่งทำตามวิธีการของสหกรณ์ โดยชาวบ้านมาลงหุ้นกัน และมาช่วยกันบริหารจัดการ มีคณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์เข้ามาดูแล กรมส่งเสริมสหกรณ์ก็มาในฐานะของพี่เลี้ยงมาแนะนำ เพื่อที่จะให้การบริหารการจัดการของสหกรณ์เป็นไปได้ด้วยดี" สหกรณ์จังหวัดนราธิวาส กล่าว

สหกรณ์จังหวัดนราธิวาส กล่าวเพิ่มเติมว่า ราษฎรที่มาใช้บริการส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตตามแบบฉบับของชาวนาไทยโดยทั่วไป คือจะสีข้าวเฉพาะพอกิน ไม่ได้สีเพื่อขาย ซึ่งการบริหารจัดการโรงสีเพื่อที่จะให้โรงสีนี้อยู่ได้ คุ้มค่ากับค่าน้ำ ค่าไฟ และสามารถบริการสมาชิกโดยทั่วถึงทั้งอำเภอ ก็จำเป็นต้องดำเนินการในรูปแบบของธุรกิจ โดยรับซื้อข้าวเปลือกจากสมาชิก และจากเกษตรกรอำเภอข้างเคียงเข้ามาแปรสภาพเป็นข้าวสารแล้วขายให้กับประชาชน ทั่วไป โดยผ่านกระบวนการของสหกรณ์ที่มีอยู่ทุกอำเภอ แต่ละสหกรณ์จะนำผลผลิตนี้ไปจำหน่ายในลักษณะของการเชื่อมโยงธุรกิจตามระบบของ สหกรณ์

ส่วนพิพิธภัณฑ์โรงสีข้าวพิกุลทอง จะมีการจัดนิทรรศการด้านการพัฒนาตามโครงการพระราชดำริอย่างครบวงจร ประกอบด้วยนิทรรศการเกี่ยวกับโครงการชลประทานมูโนะ อันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นิทรรศการเกี่ยวกับโครงการแกล้งดินของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ นิทรรศการเกี่ยวกับการพัฒนาอาชีพด้านการเกษตร เช่น พันธุ์ข้าว โรงสีพิกุลทอง โรงสีข้าวซ้อมมือขนาดเล็ก การแปรรูปทางการเกษตร การทำบัญชีครัวเรือน ฯลฯ นิทรรศการแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำนาตามวิถีชีวิตท้องถิ่นของชาว อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส โดยการจัดทำพิพิธภัณฑ์ได้ดำเนินงานไปแล้วบางส่วน และจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2554

ปิดปรับปรุงระบบความคิดเห็นชั่วคราว ขออภัยในความไม่สะดวก หากลูกค้าต้องการเปิดใช้งานระบบ กรุณาติดต่อ 02-8323222 กด 2