รู้ทัน น้ำ หากไทยจะเป็น...อู่ข้าวอู่น้ำ (ครัว) โลก

จากประชาชาติธุรกิจ



"น้ำ" เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ โลกประกอบไปด้วยน้ำมากถึง 3 ใน 4 ส่วน หรือคิดเป็น 71% ของพื้นที่ทั้งหมด โดยมี น้ำธรรมชาติหรือน้ำจืดที่นำมาใช้ได้เพียง 3% ในจำนวนนี้อยู่ในรูปของน้ำแข็งและธารน้ำแข็งบนยอดเขาบริเวณขั้วโลกถึง 2 ใน 3 มีเพียง 0.3% เป็นน้ำบนผิวดิน น้ำในชั้นบรรยากาศ 0.04% ที่เหลือเป็นน้ำใต้ดิน มนุษย์สามารถจะใช้ประโยชน์จากน้ำได้จริงเพียงประมาณ 0.8% ของทั้งหมดในโลกที่มีอยู่ โดย 17% ของจำนวนนี้เป็นน้ำที่ใช้เพื่อการ เพาะปลูกพืชอาหารเลี้ยงประชากรโลก

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ปัญหาน้ำมีความรุนแรงมากขึ้น นายชวลิต จันทรรัตน์ กรรมการผู้จัดการ หน่วยธุรกิจน้ำ บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด และกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท ทีมฯ กล่าวว่า ประเทศไทยมีความสมบูรณ์ทางด้านทรัพยากรน้ำที่มีมากเพียงพอความต้องการที่ เพิ่มมากขึ้นตามการเพิ่มของประชากรและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่ต้องมีการบริหารจัดการที่เหมาะสมในหลาย ๆ มิติ

"...ในอดีตที่ ผ่านมา ปริมาณน้ำต้นทุนกับปริมาณการใช้น้ำมีความสมดุล หากแต่ในปัจจุบันการกักเก็บและการใช้น้ำเริ่มขาดสมดุล ประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่มีความผันผวนมากขึ้น ปีใดตกน้อย ทิ้งช่วง ปัญหา ภัยแล้งก็จะตามมา ในทางกลับกัน ปีใดฝนตกชุก ปริมาณน้ำมีมากกว่า ความสามารถในการระบายน้ำของลำน้ำ ก็จะก่อให้เกิดปัญหา น้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วม และสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและชีวิต..."

ประเทศไทยอยู่ ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุม ทำให้มีฝนตกมาก และน้ำฝนยังเป็นต้นกำเนิดของน้ำในประเทศ โดยปริมาณฝนเฉลี่ยที่วัดได้ มีค่าตั้งแต่ 1,000-4,000 ม.ม.ต่อปี แตกต่างกันไปตามพื้นที่ ฝนที่ตกในช่วงฤดูฝน (พ.ค.-ต.ค.) มีมากถึง 80% ทำให้เกิดอุทกภัยบ่อยครั้งในฤดูฝน และขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งบางปี

ลักษณะ ภูมิประเทศที่มีเทือกเขาสูงทางต้นน้ำในภาคเหนือ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสำคัญหลายสาย ผนวกกับปริมาณ น้ำฝนเมื่อตกลงมาสู่พื้นดิน บางส่วนขังอยู่บนผิวดิน บางส่วน ซึมลงดินไปสะสมอยู่ในดิน ทำให้เกิดขึ้นเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ อันยังผลประโยชน์ต่อพืชโดยตรงแล้ว เมื่อฝนตกลงมามาก น้ำไม่สามารถขังอยู่ใต้ดินบนผิวดินและซึมลงไปในดินได้ทั้งหมด ก็จะเกิดเป็นน้ำไหลนองไปบนผิวดิน จากนั้นจะไหลลงสู่ที่ลุ่มต่ำ ลำธาร แม่น้ำ และไหลลงสู่ทะเลและมหาสมุทรต่อไป

รู้ทัน "น้ำ"

ประเทศไทย ตั้งอยู่ในภูมิภาคเขตร้อนเหนือเส้นศูนย์สูตร ฝนที่ตกในประเทศส่วนใหญ่ จึงเป็นฝนที่มาจากลมและพายุที่พัดผ่านในเดือนต่าง ๆ ได้แก่จากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ปกติฝนจะเริ่มตกประมาณเดือน พ.ค. และตกปกคลุมเกือบ ทั่วประเทศ ตามทิศทางที่ลมพัดผ่านจนถึงเดือน ก.ย. จึงเริ่มน้อยลง และหมดไปประมาณเดือน ต.ค. ส่วนฝนจากลมมรสุมที่ตกระหว่างเดือน พ.ค.-มิ.ย.เป็นฝนต้นฤดูกาลเพาะปลูกข้าวประจำปี ซึ่งชาวนาจะเตรียมไถและหว่านพันธุ์ข้าว หรือเพาะกล้าแล้วเริ่มปักดำ ในบางปีฝนแล้ง อาจไม่มีฝน หรือฝนตกน้อย จะเป็นเหตุให้การเพาะปลูกข้าวได้รับความเสียหายอยู่บ่อย ๆ

นอกจากนี้ ยังมีฝนที่เกิดจากพายุหมุนเขตร้อนที่เกิดในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นพายุจรที่พัดมาทางทิศตะวันออกของประเทศ ได้แก่พายุไต้ฝุ่น พายุโซนร้อน และพายุดีเปรสชั่น รวมทั้งพายุหมุนที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวในอ่าวเบงกอล แล้วพัดผ่านเข้ามาใน ประเทศไทย มักจะเริ่มตกในภาคกลาง ภาคเหนือ และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณเดือน มิ.ย. ตามจำนวนพายุที่เกิดขึ้น ครั้นเมื่อถึงเดือน ก.ค. แนวทางของพายุมักเคลื่อนไปอยู่ในแนวเหนือของประเทศไทย ดังนั้น ในช่วงเดือนนี้จึงมีฝนตกน้อย หรือไม่มีเลย ทำให้เกิดสภาวะภัยแล้งในระหว่างฤดูฝน ที่เรียกว่า "ฝนทิ้งช่วง" เป็นประจำทุกปี (3-4 สัปดาห์)

เมื่อถึงเดือน ส.ค. พายุจรจะมีแนวพัดผ่านเข้ามาในประเทศไทยอีก แล้วมีแนวร่นต่ำลงมาทางภาคกลางและภาคใต้ตามลำดับ ดังนั้น ในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.จะทำให้ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ตลอดจนภาคอื่น ๆ มีฝนตกหนัก แล้วเกิดน้ำไหลบ่าบนผิวดินไหลลงสู่ลำธารและแม่น้ำ บางปีมีปริมาณมากถึงกับเกิดน้ำท่วมใหญ่และรุนแรงในท้องที่ต่าง ๆ

แนว พายุจรที่พัดผ่านประเทศไทยตั้งแต่เดือน ต.ค.จะร่นต่ำลงไปทางใต้มากขึ้น ทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่มีฝนอีก แต่ภาคกลางจะยังมีฝนตกบ้างเล็กน้อย ส่วนภาคกลางตอนล่างลงไปจะเริ่มมีฝนตกหนักมากขึ้น และตกมากขึ้นร่นไปทางใต้จนถึงเดือน ม.ค. ฝนทางภาคใต้จึงเริ่มน้อยลง ส่วนพายุหมุนจากอ่าวเบงกอลจะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวและพัดผ่านเข้ามาตามแนว ทิศตะวันตกของไทยในบางปี โดยนำฝนมาตกในบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำตอนบน และหากปีใดพายุดังกล่าวมีกำลังแรง ก็จะนำฝนมาตก ตามแนวทางที่พายุพัดผ่านมาก ทำให้เกิดอุทกภัยในช่วงฤดูฝนได้

อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ธรรมชาติในทุก ๆ 19 ปี ต่อรอบของการเปลี่ยนแปลง และปฏิสัมพันธ์ระหว่างดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ ตลอดจนการหมุนเวียนของกระแสลมกับกระแสน้ำทุก 5 ปี ที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์เอลนิโญ และลานิญา ก็มีผล ต่อประมาณน้ำในแต่ละปีด้วย

อู่ข้าวอู่น้ำ (ครัว) โลก

ลุ่ม น้ำเจ้าพระยาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของไทย ในปี 2491 หลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 ได้เกิดวิกฤตอาหารทั่วโลก องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เห็นว่าประเทศไทยมีฐานะทางเศรษฐกิจที่จะผลิตข้าวที่ได้ ผลเร็วปีละ 2-3 ครั้ง เพื่อบรรเทาการขาดแคลนอาหาร จากการเกิดสงครามโลก จึงเสนอแนะให้ไทยเสริมความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจด้วยการส่งออกข้าว ต่อมาปี 2495 ไทยได้กู้เงินจากธนาคารโลก เพื่อเริ่มโครงการชลประทานเจ้าพระยาใหญ่ ซึ่งถือเป็นโครงการพัฒนาระบบชลประทานที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียขณะนั้น ในปี 2504 การก่อสร้างเขื่อนภูมิพลและระบบชลประทานก็ได้ดำเนินการจนแล้วเสร็จ และเปิดใช้งานปี 2507 ส่วนเขื่อนสิริกิติ์สร้างเสร็จในปี 2520 ส่งผลให้ประเทศไทยผลิตข้าวส่งออก เพื่อบรรเทาการขาดแคลนอาหาร จากการเกิดสงครามโลกสำเร็จ และยังส่งผลเป็นปัจจัยสำคัญ ผลักดันให้ไทยกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวเป็นอันดับ 1 ของโลกตั้งแต่นั้นมา

ใน ปี 2523 และ 2526 เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในบริเวณอู่ข้าวอู่น้ำเจ้าพระยา และในปี 2526 อุทกภัยครั้งนั้น ทำให้น้ำเกิดท่วมขัง ทางตะวันออกของกรุงเทพฯนานถึง 4 เดือน จึงต้องมีมาตราการการแก้ไขปัญหา ด้วยการสร้างแบบจำลองโครงข่ายแม่น้ำของเอไอที (AIT river network model) มาใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาและทดสอบประสิทธิภาพของมาตรการบรรเทา อุทกภัย ซึ่งแบบจำลองนี้ได้ถูกนำมาใช้พยากรณ์น้ำท่วมบริเวณลุ่มเจ้าพระยาอีกหลาย ครั้ง โดยเฉพาะในปี 2549

ปี 2538 และปี 2549 เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่อีกครั้ง สร้างความเสียหายมากถึง 30,000 ล้านบาท และ 72,000 ล้านบาท ตามลำดับ ทั้งนี้ เนื่องจากการบุกรุกพื้นที่กักเก็บน้ำตอนบน และ ยังขาดระบบระบายน้ำลงทะเลได้ทัน ทำให้น้ำท่วมขังในพื้นที่ปลูกข้าวของประเทศ รวมทั้งในเขตเมืองสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงเป็นวงกว้างตั้งแต่จังหวัด ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และอำเภอบางไทร จึงได้ทบทวนมาตรการบริหารจัดการน้ำท่วมในทุ่งเจ้าพระยา รวมทั้งจัดทำแผนโครงการจัดการน้ำท่วมทั่วที่ราบลุ่ม

ในปี 2539 องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือไจก้า (JICA) ได้ให้ความช่วยเหลือรัฐบาล ไทยพัฒนาแผนบรรเทาน้ำท่วมทุ่งเจ้าพระยาแบบบูรณาการ ในการศึกษาด้านอุทกวิทยา และจัดทำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ พร้อมทั้งวิเคราะห์ประสิทธิผลของมาตรการต่าง ๆ ที่มีด้านมาตรการการก่อสร้าง เช่น การปรับสภาพลำน้ำ ปรับปรุงการกระจายน้ำและระบายน้ำ ระบบคันป้องกันชุมชน รวมถึงมาตรการ ทางเลือกอื่น ๆ เช่น ป้องกันพื้นที่บางส่วนบริเวณพื้นที่เศรษฐกิจ เพิ่มระดับกำแพงป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร รวมทั้งการผันน้ำเลี่ยงเมือง ตลอดจนการบริหารจัดการน้ำในช่วงวิกฤตได้อย่างดี จนปัญหาน้ำท่วมในวงกว้างที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจ และสังคม ทั้งในระดับลุ่มน้ำ และในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล แทบจะไม่ได้เกิดขึ้นอีกเลยในรอบกว่า 10 ปีที่ผ่านมา

ภัยจากน้ำท่วม-น้ำแล้ง

บริเวณ ที่ราบลุ่มที่สำคัญของประเทศที่มีความเสี่ยงต่อสภาพน้ำท่วมเจ้าพระยาตอนล่าง มีพื้นที่ 39,000 ตร.ก.ม. ที่มีพื้นที่รับน้ำทั้งลุ่มน้ำถึง 159,283 ตร.ก.ม. โดยเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่มีพื้นที่ชลประทาน 12,000 ตร.ก.ม. มีจังหวัดตั้งอยู่ในพื้นที่ 9 แห่ง คือชัยนาท, สิงห์บุรี, อุทัยธานี, นครสวรรค์, ลพบุรี, สุพรรณบุรี, พระนครศรีอยุธยา, ปทุมธานี รวมถึงกรุงเทพมหานคร โดยมีประชากรรวม 16.2 ล้านคน มีขนาดเศรษฐกิจ 3.73 ล้านล้านบาทต่อปี หรือ 44% ของ GDP

ภัยจากน้ำท่วมและน้ำแล้งถือ เป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และสร้างความเสียหายเป็นลำดับต้น ๆ ประเทศไทยมีพื้นที่เกษตรกรรม 131 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 40% เทียบกับพื้นที่ทั้งหมด 321 ล้านไร่ เป็นพื้นที่นาปลูกข้าวกว่า 64 ล้านไร่ หรือ 50% ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมด มีพื้นที่ชลประทานที่พัฒนาแล้ว 28.7 ล้านไร่ ปริมาณน้ำท่า (น้ำฝนที่ไหลในแม่น้ำลำธาร) เฉลี่ยทั้งประเทศ 210,000 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี มีอ่างเก็บน้ำความจุรวม 75,300 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 35% ของปริมาณน้ำท่า ในขณะที่ความต้องการรวมทุกกิจกรรมทั้งปีรวมประมาณ 64,000 ล้าน ลบ.ม. ความต้องการน้ำช่วง ฤดูแล้ง 34,000 ล้าน ลบ.ม.

ปริมาณน้ำต้นทุนกับ ปริมาณการใช้น้ำที่ผ่านมามีความสมดุล โดยจัดเรียงตามลำดับความสำคัญ เพื่อการบริโภคอุปโภค 5% ใช้ในการเกษตร 90% และอุตสาหกรรม 5% แต่วันนี้การกักเก็บและการใช้น้ำเริ่มขาดสมดุล จึงก่อให้เกิดปัญหาภัยแล้งตามมา ซึ่งปัญหาภัยแล้งเกิดจากสมดุลของน้ำที่เก็บกักได้กับความต้องใช้น้ำ ไม่สอดคล้องกัน เช่น ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งเพิ่มขึ้นทุกปี และมีการปลูกข้าวนาปรังครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 เพิ่มในช่วงเดือน ก.ค. ซึ่งมักจะประสบกับปัญหาฝนทิ้งช่วง การจัดสรรน้ำในเขื่อนนำมาใช้เพื่อการเกษตรจึงมากขึ้นตามมา และมีผลต่อปริมาณน้ำต้นทุนที่มี ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมีเพิ่มขึ้นทุกปีจากการพัฒนาในด้านต่าง ๆ อีกด้วย โดยเฉพาะจากภาคอุตสาหกรรมและบริการ ในขณะที่การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนแทบจะไม่สามารถทำได้เลย

ปี 2553 ประเทศไทยประสบกับภาวะภัยแล้งเป็นวงกว้างในทั่วทุกภาค ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำสองแห่ง คือเขื่อนภูมิพล 5,552 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนสิริกิติ์ 3,173 ล้าน ลบ.ม. เมื่อสิ้นฤดูฝนปี 2552 พบว่ามีปริมาณน้ำเก็บกักรวม 8,725 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นปริมาณน้ำที่สามารถจัดสรรให้แก่กิจกรรมการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งที่ ผ่านมาของทั้งสองเขื่อนรวมกันประมาณ 7,695 ล้าน ลบ.ม. ในเดือน พ.ค. 2553 เขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำเหลือเพียง 890 ล้าน ลบ.ม. หรือเพียง 9% จากที่เก็บกักน้ำได้ ด้านเขื่อนสิริกิติ์ จากฝนทิ้งช่วง ทำให้ไม่มีน้ำไหลเข้าเขื่อน มีน้ำเหลืออยู่เพียง 539 ล้าน ลบ.ม. หรือเพียง 6% เท่านั้น ปี 2553 นี้จึงถือว่าเป็นปีที่เจอกับวิกฤตภัยแล้งที่สุดในรอบ 18 ปี หลังจากที่เกิดขึ้นในปี 2537 แล้วส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรกรรมให้ได้รับความเสียหาย ในขณะที่น้ำเค็มได้รุกถึงโรงสูบน้ำประปาสำแล จนต้องหยุดสูบน้ำ บางช่วงเวลา

วิกฤตภัยแล้งปี 2553 ผ่านพ้นไปแล้ว วิกฤตน้ำท่วมมาแทนที่เนื่องจากปรากฏการณ์ลานิญากำลังเกิดขึ้น และปัจจุบันพบว่าปริมาณน้ำฝนที่ตกหนักยังคงมีปริมาณที่มากเกินความสามารถใน การระบายน้ำของลำน้ำเสียเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เกิดน้ำท่วมและเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่บริเวณฝั่งของลำน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อพื้นที่ชุมชน และพื้นที่เกษตรกรรมริมน้ำ

การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

สถานการณ์ น้ำและการแพร่กระจายของฝน หากไทยจะเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ หรือครัวของโลก การใช้ประโยชน์ในที่ดินในพื้นที่การเพาะปลูกของประเทศไทยต้องพิจารณาถึงความ เสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากภัยน้ำ ไม่ว่าจะน้ำท่วมและน้ำแล้ง โดยจัดแบ่งออกเป็น 2 ส่วน กล่าวคือ ในเขตพื้นที่เกษตรน้ำฝน และพื้นที่เกษตรชลประทาน

พื้นที่ เพาะปลูกส่วนใหญ่ของไทย และเป็นพื้นที่เกษตรน้ำฝนอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรืออีสานมากที่สุดถึง 57.41% รองลงมาได้แก่ภาคเหนือ 22.22% ภาคกลาง 17.10% และ ภาคใต้ 3.27% โดยมีความเสี่ยงถึงผลกระทบด้านภัยแล้ง เมื่อเพาะปลูกแล้วไม่มีฝน ดังนั้น การบริหารจัดการน้ำจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็น แม้ว่าพื้นที่ทางการเกษตรจะมีมาก แต่หากพิจารณาถึงผลผลิตต่อไร่ เมื่อปี 2552 ของไทยมีผลผลิต 404 กิโลกรัมต่อไร่ ในขณะที่เวียดนามประมาณ 633 กิโลกรัมต่อไร่ สหรัฐอเมริกา 1,017 กิโลกรัมต่อไร่ และจีน 969 กิโลกรัมต่อไร่

"...ภัยน้ำ ทั้ง 'น้ำท่วม' และ 'น้ำแล้ง' ส่วนใหญ่เกิดจากความไม่รู้ในพฤติกรรมของน้ำ ซึ่งถ้าเรารู้ ก็จะลดความเสี่ยงและความรุนแรงที่จะก่อให้เกิดความเสียหายได้ ดังนั้น ในระยะสั้น ความรู้ทางวิชาการ การวิจัย จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องตระหนัก และให้ข้อมูลข่าวสารแก่เกษตรกรในการปรับตัว เพื่อบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ไม่ปล่อยให้ดำเนินการต่อไปในลักษณะที่ทำมาอย่างไรก็ทำไปอย่างนั้น เช่น การปรับเปลี่ยนระยะเวลาในการปลูก การใช้พันธุ์พืชที่เหมาะสม และ หรือการปรับปลูกพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ทดแทน..." นายชวลิตกล่าว

นอกจาก นี้ ด้านสถิติ ข้อมูลข่าวสาร เทคโนโลยี ก็เป็นเรื่องที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งในการนำมาใช้เป็นเครื่องมือบริหารจัดการ น้ำ เช่น ด้านการตรวจสอบพื้นที่เพาะปลูกโดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียม แหล่งน้ำชุมชนประจำหมู่บ้าน สถานการณ์น้ำในเขื่อนต่าง ๆ ปริมาณฝนตก ปริมาณน้ำไหลในลำน้ำ คุณภาพน้ำ ระดับ น้ำทะเล และการทรุดตัว รวมถึงการติดตามด้านสภาพอากาศ การพยากรณ์อากาศ การติดตามสถานการณ์น้ำท่วม การจัดทำแผนที่ประกอบข้อมูลปัจจุบันที่สามารถนำใช้ได้จริง ตลอดจนการตรวจวัดระยะไกล ที่เรียกว่า "โทรมาตร" เข้ามาช่วย เป็นต้น

รวม ถึงการระดมผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้และประสบการณ์ เครือข่ายชุมชนและองค์กรต่าง ๆ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันจัดทำ "ข้อมูลสารสนเทศน้ำ" ให้ถูกต้อง ครบถ้วน สามารถมองเห็นภาพของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีอยู่ รวมถึงทรัพยากรอื่น ๆ ได้อีกด้วย

ระยะต่อไป ก็นำระบบประกันราคา กองทุนชดเชยความเสียหายจากน้ำท่วม ภัยแล้งเข้ามาช่วย ซึ่งเรื่องนี้อาจต้องกลับไปดูในเชิงโครงสร้าง ที่รัฐควรมอบให้สภาพัฒน์ศึกษาในนโยบายการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งขณะนี้มีโครงการทดลองนำร่องการประกันราคาข้าวที่ได้รับผลกระทบจากภัย แล้งที่จังหวัดเพชรบูรณ์ หรือกระทั่งการจัดตั้งกระทรวงน้ำให้เข้ามาดูแล โดยเฉพาะการพิจารณาถึงต้นทุนของน้ำตามหลักเศรษฐกิจที่ต้องกลับมาตั้งคำถาม ใหม่ว่า ถ้าเป็นอู่ข่าวอู่น้ำของโลก แล้วทำไมชาวนาเกษตรกรไทยยังยากจนอยู่ หรือเมื่อพิจารณาถึงต้นทุนน้ำ แล้วเราใช้ไปในการผลิตเพื่อการส่งออกขาย โดยเฉพาะข้าวมากที่สุด ซึ่งเมื่อขาดทุน แล้วทำไมรัฐจึงยังให้การสนับสนุนต่อไป

ดังนั้น แนวทางจึงน่าจะผลิตให้พอใช้ และนำน้ำไปใช้ประโยชน์ที่ให้คุณค่าทางเศรษฐกิจด้านอื่น น่าจะเหมาะสมกว่า

การ บริหารจัดการน้ำ จึงถือเป็นเรื่องที่ยาก อันเนื่องมาจากความไม่เข้าใจสภาพน้ำ และที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือความรู้สึกที่ว่าน้ำเป็นของฟรี ทำให้การใช้น้ำไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ถึงแม้ไม่สามารถควบคุมได้ แต่ปริมาณน้ำที่มีในแต่ละปี จากสถิติ ทำให้เราทราบข้อมูลว่ามีเพียงพอต่อความต้องการ และจากความเสี่ยงบนพื้นฐานของความต้องการที่มีอยู่จากน้ำต้นทุนที่มีเพียง 70,000 ลบ.ม. ในการนำมาใช้จัดสรร ยังมีความต้องการมากขึ้นในส่วนของอุปโภคบริโภคและภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องหาหรือสำรองน้ำเพิ่มอีก 70,000 ล้าน ลบ.ม. หรือ 2 เท่า ในระยะ 3-5 ปี ซึ่งการจัดหาพื้นที่ในการเก็บกักน้ำเพิ่มทำได้ยากด้วยเงื่อนไขหลาย ๆ ประการ หากแต่ทำได้โดยการนำเอาหลักทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้ ประเทศไทยก็จะยังเป็นอู่ข่าวอู่น้ำหรือครัวของโลกต่อไป

ปิดปรับปรุงระบบความคิดเห็นชั่วคราว ขออภัยในความไม่สะดวก หากลูกค้าต้องการเปิดใช้งานระบบ กรุณาติดต่อ 02-8323222 กด 2