• 22 สิงหาคม 2018 at 10:12
  • 314
  • 0

จากประชาชาติธุรกิจ

สถานการณ์ น้ำท่วมในพื้นที่ภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลางหลายจังหวัด รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ส่งผลกระทบในวงกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม พื้นที่การเกษตร ตลอดจนที่พักอาศัยได้รับความเสียหายจำนวนมาก แม้ภาครัฐและเอกชนหลายหน่วยงานจะพยายามเร่งให้ความช่วยเหลือ แต่พบว่าหลายพื้นที่ยังน่าเป็นห่วง

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.นครราชสีมาว่า ล่าสุด (22 ต.ค.) จ.นครราชสีมา ประกาศให้พื้นที่นครราชสีมาเป็นพื้นที่ภัยพิบัติรวม 32 อำเภอ ครอบคลุมทั้งจังหวัดแล้ว มีพื้นที่ประสบภัยรวมทั้งสิ้น 292 ตำบล 1,957 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับความ เดือดร้อนรวม 91,501 ครัวเรือน เสียชีวิตแล้ว 5 ราย สาธารณสมบัติเสียหายกว่า 40 ล้านบาท โดยหลายพื้นที่ประสบอุทกภัยอย่างหนัก และน่าจะเสียหายเพิ่มขึ้นต่อเนื่องใน 5 อำเภอ คือ เฉลิมพระเกียรติ จักราช โนนไทย โนนสูง และพิมาย ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวใหญ่ ส่วนน้ำในเขื่อนลำตะคองและลำพระเพลิง ปริมาณน้ำยังเกินระดับกักเก็บ

นายสวัสดิ์ บึงไกร เกษตรจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบแล้ว 30 อำเภอ รวม 1 ล้านไร่เศษ มูลค่าความเสียหายประมาณ 10,000 ล้านบาท ทั้งพืชไร่ พืชผัก และการประมง โดยเฉพาะ อ.เมือง พืชผักสวนครัวเสียหายกว่า 30,000 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างประเมินความเสียหายโดยให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบทั้งข้าว โพด มันสำปะหลัง อ้อย พืชเศรษฐกิจหลัก ซึ่งจะส่งผลไปถึงการ ส่งออกทั้งระบบ แต่หลังน้ำลดเกษตรจังหวัดได้เตรียมแผนดูแลฟื้นฟูไว้แล้ว

ขณะ ที่ธุรกิจยานยนต์และอสังหาริมทรัพย์ในเมืองโคราชต่างได้รับ ผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน จากการเปิดเผยของ นายสุดที่รัก พันธ์สายเชื้อ ผู้จัดการ ทั่วไปบริษัทฟอร์ด เอกสหกรุ๊ป โคราช และกรรมการผู้จัดการ คาซ่าเอสเตท กรุ๊ป กล่าวว่า ดีลเลอร์และศูนย์ซ่อมรถยนต์หลายบริษัท ซึ่งอยู่ในพื้นที่อุทกภัยได้รับผลกระทบทั้งรถยนต์ใหม่และรถยนต์เก่ารวมแล้ว น่าจะมากกว่า 700 คัน ความเสียหายน่าจะเกิน 10,000 ล้านบาท นอกจากนี้อสังหาฯบ้านจัดสรรถูกน้ำท่วมหลายแห่งทั้งในเขตเทศบาลและนอกเขต เทศบาลยังไม่สามารถประเมินค่าเสียหายได้

พืชผักขาดตลาด-ราคาพุ่ง

ผล กระทบจากวิกฤตน้ำท่วมครั้งใหญ่ในรอบ 30 ปี ที่ทำให้พืชผลทางการเกษตรจำนวนมากได้รับความเสียหาย ประกอบกับค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าที่สูงขึ้นมาก ทำให้พืชผักในท้องตลาดมีจำนวนลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ขณะเดียวกันผักหลายชนิดราคาสูงขึ้นกว่าเท่าตัว

จากการสำรวจตลาดไท ตลาดค้าส่งพืชผักผลไม้แหล่งใหญ่พบว่า ผักหลายชนิดขาดตลาดหรือราคาสูงขึ้นกว่าปกติมาก เช่น ต้นหอม ผักชี ชะอม แตงกวา ผักบุ้ง กระเทียม มะเขือเปราะ ฯลฯ ที่แหล่งเพาะปลูกอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม เช่นในนครราชสีมา ราชบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี และเชียงใหม่ เป็นต้น เช่น ผักชี ที่พ่อค้าแม่ค้าเคยนำมาจาก จ.นครราชสีมา ต้องหันมารับสินค้าจากนครปฐมแทน ราคาจำหน่ายจากกิโลกรัมละ 50 บาทปรับขึ้นถึง 150 บาท, มะเขือเปราะ ราคา 150 บาท/กิโลกรัม ปรับขึ้นเป็น 250 บาท ทำให้ลูกค้าที่รับผักจากตลาดไทยไปขายปลีก เลือกหยุดรับผักบางชนิดไปจำหน่าย ขณะที่พ่อค้าแม่ค้าจำนวนไม่น้อยประสบปัญหาขาดทุน

นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า ปัญหาน้ำท่วมได้สร้างความเสียหายต่อผลผลิตข้าวที่เริ่มออกในเดือนตุลาคมนี้ แล้วประมาณ 20-25% หรือปริมาณ 1.5 ล้านตันข้าวเปลือก โดยยัง ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อราคาข้าวและความต้องการบริโภคข้าว แต่หากน้ำท่วมยังต่อเนื่องถึงเดือนพฤศจิกายนนี้ ความเสียหายก็จะเพิ่มมากขึ้น แต่เชื่อว่าไม่กระทบ ต่อความต้องการและราคาข้าวที่สูงขึ้น เพราะสต๊อกข้าวรัฐยังมีอยู่มากและภาวะ ส่งออกยังทรงตัว

ถนนคมนาคมพังยับ 6 พันล้าน

นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ ทำให้ถนนของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท รวมถึงทางรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้รับความเสียหายมากพอสมควร ประเมินเบื้องต้นถนนของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทได้รับความเสียหายกรมละ 1,000 กว่าล้านบาท ส่วนการรถไฟฯได้รับความเสียหายไม่มาก ตอนนี้ให้แต่ละกรมใช้งบฯฉุกเฉินที่กันไว้แต่ละปีออกมาใช้ไปก่อน ของการรถไฟฯมี 20 ล้านบาท กรมทางหลวง 200 ล้านบาท กรมทางหลวงชนบท 1,000 ล้านบาท

กระทรวงคมนาคมกล่าวว่า เบื้องต้นจากการประเมินคร่าว ๆ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม-18 ตุลาคมที่ผ่านมา น่าจะอยู่ที่ประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท เป็นถนนของกรมทางหลวง 4,000 ล้านบาท กรมทางหลวงชนบท 800-1,000 กว่าล้านบาท กำลังให้แต่ละกรมประเมินอีกรอบ โดยจากรายงานของกรมทางหลวงชนบท ตั้งแต่เดือนสิงหาคม-19 ตุลาคม มีถนนเสียหายใน 49 จังหวัด จำนวน 239 สายทาง มีภาคเหนือ 16 จังหวัด 97 สายทาง ภาคอีสาน 16 จังหวัด 66 สายทาง ภาคกลาง 15 จังหวัด 68 สายทาง และภาคใต้ 2 จังหวัด 8 สายทาง คิดเป็นความเสียหาย 1,021 ล้านบาท